เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ลูทีน และวิตามินเอ

ลูทีน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ลูทีน และวิตามินเอ

 

          โลกปัจจุบันนี้เด็กๆ จะต้องเจอกับสภาวะแสงแดดที่จ้าขึ้น รวมถึงแสงจากคอมพิวเตอร์ ทีวี เกมส์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งมีแสงสีฟ้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ในชีวิตประจำวันแสงเหล่านี้มีผลกระทบต่อดวงตาโดยตรง ดังนั้นจึงควรปกป้องรักษาสุขภาพของดวงตาด้วยการหลีกเลี่ยงสภาวะดังกล่าว หรือควบคุมดูแลให้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงควรบริโภคสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อดวงตา เช่น ลูทีน

          สำหรับเด็ก ร่างกายต้องการสารอาหารหลายชนิด เพื่อใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อและโครงสร้างต่างๆ ของดวงตา และเพื่อช่วยเสริมสร้างการมองเห็น สารอาหารเหล่านี้ได้แก่ วิตามินเอ, ดีเอชเอ, ทอรีน และสารอาหารลูทีน (Lutein) ซึ่งเป็นสารอาหารใหม่ที่กำลังเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ต่างประเทศ ในฐานะสารอาหารสำคัญที่ช่วยปกป้องจอประสาทตาของเด็กเล็กจากแสง และป้องกันอาการจอประสาทตาเสื่อม

เด็กเล่นคอมพิวเตอร์

ลูทีน เป็นสารที่มีปริมาณมากในจอประสาทตา หรือเรตินาบริเวณ Macula Lutea ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องเซลล์รับภาพบริเวณจอประสาทตา ที่มีความสำคัญในการมองเห็น โดยลูทีนจะทำหน้าที่ในการต้านปฏิกิริยาอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในดวงตา และกรองแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตาของมนุษย์ (อ้างอิงที่ 1) รวมถึงดวงตาเด็กที่ยังบอบบาง

 

          ลูทีน (Lutein) เป็นสารธรรมชาติที่มีในนมมารดา และในพืชผักผลไม้หลายชนิด เป็นสารในตระกูลของสารแคโรทีนอยด์ โดยจะพบได้ในบริเวณดวงตา ตรงบริเวณเลนส์ตาและจอรับภาพของตา

ในธรรมชาติแล้วแม้จะมีแคโรทีนอยด์มากกว่า 600 ชนิด แต่มีเพียง 2 ชนิดนี้เท่านั้นที่พบในจุดรับภาพของจอตา หนึ่งในนั้นคือลูทีน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยกรองหรือป้องกันรังสีจากแสงแดดและแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายต่อดวงตา และช่วยปกป้องเซลล์ของจอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลายโดยการลดอนุมูลอิสระ ดังนั้นจึงทำหน้าที่บำรุงตา ทำให้จอตาไม่เสื่อมเร็ว

พืชผักที่มีสารลูทีนโดยมากมักจะเป็นผักผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีเขียวเข้ม เช่น ข้าวโพด แครอท ฟักทอง ผักกาด ผักปวยเล้ง คะน้า ผักโขมฯ การบริโภคพืชผักที่มีลูทีนหรือแม้แต่อาหารสุขภาพที่มีสารสำคัญนี้ มีประโยชน์ในโรคหลายชนิดด้วยกัน ที่สำคัญคือ โรคต้อกระจก และโรคจุดรับภาพเสื่อม

โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก

คือภาวะที่กระจกตาหรือเลนส์ตาขุ่น ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในตาได้ ตามปกติต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ ต้อกระจกจะค่อยๆ ขุ่นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นปีๆ และสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

ลูทีนกับโรคต้อกระจก

กลไกของลูทีนสามารถลด ป้องกัน หรือชะลอการเกิดต้อกระจกได้นั้น เป็นเพราะลดกลไกการเกิดความเสื่อมของโรคต้อกระจกโดยตรง (อ้างอิงที่ 2) และการที่แคโรทีนอยด์มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (อ้างอิงที่ 3) เพราะอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดต้อกระจก (อ้างอิงที่ 4)

มีการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุต่างๆ พบว่ากลุ่มที่มีระดับของลูทีนในกระแสเลือดสูง จะมีความขุ่นของเลนส์ตาน้อยกว่า ซึ่งเป็นการวิจัยของจักษุแพทย์และผู้วิจัยสรุปได้ว่า ลูทีนน่าจะลดการเกิดความเสื่อมของเลนส์ตาในผู้สูงอายุได้จริง (อ้างอิงที่ 5)

ยังมีการวิจัยว่าการรับประทานลูทีนในปริมาณสูง เพิ่มความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกไปแล้ว การวิจัยนี้เป็นการวิจัยที่มีการออกแบบแผนการวิจัยมาอย่างดี และทำการทดลองเป็นเวลานานถึงสองปี (อ้างอิงที่ 6)

โรคจุดรับภาพเสื่อม

โรคจุดรับภาพเสื่อม

เกิดจากการเสื่อมของจุดรับภาพ (Macular) ซึ่งเป็นกลางจอตา (Retina) ทำให้การมองเห็นภาพเบลอบิดเบี้ยว บางครั้งอาจรุนแรงขนาดเห็นจุดดำมาบังภาพอยู่ตลอดเวลา

การวิจัยที่ Harvard School of Public Health, Boston ในผู้ชาย 36,644 คน ที่ได้รับอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมที่มีลูทีนจะลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกถึง 19% (อ้างอิงที่ 7)

และที่ University of Massachusetts ทำวิจัยในสุภาพสตรีถึง 50,461 คน พบว่าการได้รับลูทีนจะลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกถึง 22% (อ้างอิงที่ 8) การวิจัยที่ University of Wisconsin Madison Medical School ในผู้สูงอายุ 43-48 ปี จำนวน 1,354 คน พบว่าลูทีนช่วยลดอุบัติการณ์ของต้อกระจกที่เกิดตรงกลางเลนส์ (Nuclear Cataracts) ได้ถึง 50% (อ้างอิงที่ 9) จาการวิจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นที่ยอมรับว่า ลูทีนช่วยลดอุบัติการณ์โรคต้อกระจกได้จริง

ลูทีนกับโรคจุดรับภาพเสื่อม

นอกจากลูทีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจกแล้ว ยังพบว่ามีประโยชน์ในโรคจุดรับภาพเสื่อม ซึ่งมีหลายๆ การศึกษาสนับสนุนข้อมูลดังกล่าว โดยพบว่าถ้าปริมาณลูทีนในลูกตาลดน้อยลง จะพบความเสื่อมมากขึ้นในการเป็นโรคจุดรับภาพเสื่อม (อ้างอิงที่ 10) และความเสี่ยงในการเป็นโรคจุดรับภาพเสื่อมจะลดลง หากมีปริมาณลูทีนในเลือดสูงขึ้น (อ้างอิงที่ 11,12) แสดงให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่มีลูทีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

วิตามินเอ

วิตามินเอ มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ที่สำคัญคือ ช่วยในการมองเห็น (อ้างอิงที่ 13) โดยไปร่วมใช้ในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้มองเห็นได้ยากในเวลากลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย และทำให้เยื่อบุตาแห้ง กระจกตาเป็นแผล ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรง อาจทำให้ตาบอดได้

เอกสารอ้างอิง :

  1. Protective role of lutein on light-damage of retina. Wei Sheng Yan Jiu. 2008 Jan;37(1): 115-7
  2. The body of evidence to support a protective role for lutein and zeaxanthin in delaying chronic disease. Overview.
    J Nutr. 2002 Mar;132(3):518S-524S
  3. Antioxidant and prooxidant properties of carotenoids. Arch Biochem Biophys. 2001 Jan 1;385(1):20-7
  4. Ocular photosensitization. Photochem Photobiol. 1987 Dec;46(6) :1051-5
  5. Lens aging in relation to nutritional determinants and possible risk factors for age-related cataract. Arch Ophthalmol.
    2002 Dec;120(12):1732-7
  6.  Lutein, but not alpha-tocopherol, supplementation improves visual function in patients with age-related cataracts:
    a 2-y double-blind, placebo-controlled pilot study. Nutrition. 2003 Jan; 19(1):21-4
  7. A prospective study of carotenoid intake and risk of cataract extraction in US men. Am J Clin Nutr.
    1999 Oct;70(4):517-24
  8. A prospective study of carotenoid and vitamin A intakes and risk of cataract extraction in Us women. Am J Clin
    Nutr. 1999 Oct;70(4):509-16
  9. Antioxidant intake and risk of incident age-related nuclear cataracts in the Beaver Dam Eye Study. Am J Epidemiol.
    1999 May 1;149(9):801-9
  10. The macular pigment: a possible role in protection from age-related macular degeneration. Adv Pharmacol.
    1997:38:537-56
  11. Antioxidant status and neovascular age-related macular degeneration. Eye Disease Case-Control Study Group.
    Arch Ophthalmol. 1993 Jan;111(1):104-9
  12. Dietary carotenoids, vitamins A, C, and E, and advanced age-related macular degeneration. Eye Disease
    Case-Control Study Group. JAMA. 1994 Nov 9:272(18) :1413-20
  13. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เรื่องการแสดงข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่ของสารอาหาร
    http://newsser.fda.moph.go.th/food /file/Laws/Announcement%20of%20the%20Food%20and%20Drug%20Administration/Nutrition Claim(11-08-51).pdf