ไฟโตนิวเทรียนท์ สารสกัดธรรมชาติจากผักและผลไม้
อาหารประเภทผัก ผลไม้ เป็นอาหารธรรมชาติที่มีสารสำคัญที่เรียกว่า Phytonutrient (ไฟโตนิวเทรียนท์) มากมายหลายชนิด ไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นสารธรรมชาติในผักผลไม้ที่เป็นสารสำคัญ ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ทั้งนี้ด้วยกลไกที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จากธรรมชาติ อนุมูลอิสระคือ โมเลกุลที่มีธาตุที่ไม่มั่นคงเนื่องจากขาดอิเลกตรอนไป 1 ตัว
อนุมูลอิสระ ถือเป็นสารพิษที่สำคัญต่อเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย ถ้ามีมากในเซลล์ก็เป็นอันตรายได้ โดยจะทำลายดีเอนเอ เยื่อหุ้มเซลล์และองค์ประกอบอื่นๆ ของเซลล์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อนุมูลอิสระเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นการก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นการทำลายเนื้อเยื่อในระยะสั้น หรือมีผลในระยะยาว โดยเป็นสาเหตุของความเสื่อมหรือการแก่ของเซลล์ และอาจเป็นสารการก่อมะเร็ง โรคหัวใจ ต้อกระจก โรคทางภูมิคุ้มกันและโรคเรื้อรังอีกหลายชนิด
อนุมูลอิสระ มีที่มาทั้งแหล่งภายนอกและภายในร่างกาย อนุมูลอิสระที่มาจากภายนอก ได้แก่ มลพิษในอากาศ ฝุ่น ควันบุหรี่ แสงแดด ความร้อน รังสีบางชนิด ยาบางชนิด จากแหล่งภายในร่างกาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นของเสียในขบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์
เมื่อเกิดอนุมูลอิสระแล้ว ร่างกายก็จะมีกลไกที่จะกำจัดอนุมูลอิสระเหล่านี้โดยใช้เอนไซม์ต่างๆ และใช้สารไฟโตนิวเทรียนท์ที่สำคัญ เช่น วิตามินอี (A-tocopherol) เบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene) และวิตามินซี (Vitamin C) จากผักผลไม้และอาหาร
ไฟโตนิวเทรียนท์ จากผักและผลไม้ ถือเป็นแหล่งสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ปัจจุบันจึงมีการสนับสนุนให้รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น โดยมีความเชื่อว่าอาจลดการก่อมะเร็ง ลดการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคเรื้อรังบางชนิด
ขอบคุณภาพจาก : smhos.com
ไฟโตนิวเทรียนท์ ที่มีในผักและผลไม้ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณประโยชน์เป็นที่ยอมรับ มีทังนี้คือ
- ชาเขียว มีสารสำคัญเป็น Polyphenol (โพลีฟีนอล) ที่ชื่อ Catechin (คาเทชิน)
- ทับทิม มีสารประเภท Flavonoid (ฟลาโวนอยด์)
- แครอท มี Beta-carotene (เบต้า-แคโรทีน)
- มะเขือเทศ มี Lycopene (ไลโคปีน)
- มิกซ์เบอร์รี่ มี Flavonoid ชื่อ Anthocyanosides (แอนโธไซยาโนไซด์)
- ใน Bilberry อะเซโรลา เชอร์รี่ มี Vitamin C ถือเป็นแหล่งวิตามินซีธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง
- บล็อคโคลี่ มี Sulforaphane (ซัลโฟราเฟน)
- โรสแมรี่มี Rosemarinic acid (โรสแมรินิคแอซิด)
- แอปเปิ้ลมีสารประเภท Polyphenol (โพลีฟีนอล) เช่นกัน
- อัลฟัลฟ่ามี Saponins (ซาโปนิน)
- มะกอกมี Oleuropein (โอลีโรเปอิน)
- เมล็ดองุ่นมี Proanthocyanidin (โปรแอนโธไซยานิดิน) หรือพีซีโอ (PCO : Procyanidolic Oligomers)
- ขมิ้นมีสารสำคัญคือ Curcumin (เคอร์คิวมิน)
- ผักโขมมีใยผัก วิตามินแร่ธาตุหลายชนิด
รายงานที่ว่าการรับประทานผักและผลไม้ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมีมากมาย ซึ่งคิดว่ากลไกทั้งด้านที่ผักและผลไม้มีสารกากใยมาก ซึ่งจะช่วยทางด้านลดมะเร็งลำไส้ใหญ่ (อ้างอิงที่ 1 )
นอกจากนี้คือ กลไกทางด้านต้านอนุมูลอิสระจากสารไฟโตนิวเทรียนท์ ตัวอย่างรายงานวิจัยเรื่องลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งมีมากมาย รายงานแรกพบว่า ผักและผลไม้ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารได้ถึง 5.5 เท่า ซึ่งรายงานนี้เป็นรายงานใหญ่ในการศึกษาแบบติดตามคนไข้ถึง 11,546 คน เป็นเวลา 25 ปี (อ้างอิงที่ 2)
ผักและผลไม้ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดก็มีรายงานเช่นกัน (อ้างอิงที่ 3) บางรายงานตรวจสอบชัดลงไปได้ถึงชนิดของผักด้วย เช่น พบว่าผักที่มีสีเหลือง เช่น แครอท พบว่าลดมะเร็งของปอดได้มากกว่าผักชนิดอื่นเป็นต้น (อ้างอิงที่ 4)
นอกจากนี้มีรายงานใหญ่ที่ติดตามการเป็นมะเร็งปอด 248 คน แต่ก็พบว่ากลุ่มที่มีการรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอ หรือ เบต้า-แคโรทีน จะสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งปอดได้ (อ้างอิงที่ 5) การรับประทานผักและผลไม้ที่มี เบต้า-แคโรทีน วิตามินซี และวิตามิอี สูง สามารถที่จะลดอุบัติการณ์การเป็นมะเร็งเต้านมได้จริงในสตรีวัยเจริญพันธุ์ จากการติดตามคนไข้ 83,234 คน เป็นเวลา 14 ปี (อ้างอิงที่ 6)
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะลดความเสี่ยงได้ด้วยการรับประทานผักประเภทบร็อคโคลีและหัวผักกาด (อ้างอิงที่ 7) นอกจากนี้ผักและผลไม้ที่มีเบต้า-แคโรทีนสูง ก็มีผลต่อการลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจขาดเลือดได้จริง จากการวิจัยย้อนหลังในคนไข้ 4,802 คน ติดตามไป 4 ปี (อ้างอิงที่ 8)
การรับประทานผักและผลไม้ จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริงในผู้ที่ไม่สามารถจะรับประทานผักและผลไม้ได้ หรือรับประทานได้น้อย ปัจจุบันก็มีอาหารสุขภาพที่สกัดจากสารสำคัญจากผักและผลไม้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค
เอกสารอ้างอิง :
1.Relationship between the intake of high-fibre foods and energy and the risk of cancer of the large bowel and breast. Eur J Cancer Prev 1998;7 Suppl 2:S11-7:011-7.
2. Protective effect of fruits and vegetables on stomach cancer in a cohort of Swedish twins. Int J Cancer 1998;76(1):35-7.
3. Dietary factors and risk of lung cancer in never-smokers. Int J Cancer 1998;78(4):430-6.
4. Vegetable and fruit intake and the risk of lung cancer in women in Barcelona, Spain. Eur J Cancer 1997;33(8):1256-61.
5. Intake of vitamins E, C, and A and risk of lung cancer. The NHANES I epidemiologic followup study. First National Health and Nutrition Examination Survey. Am J Epidemiol 1997;146(3):231-43.
6. Dietary carotenoids and vitamins A, C, and E and risk of breast cancer. J Natl Cancer Inst 1999;91(6):547-56.
7. Fruit and vegetable intake and incidence of bladder cancer in a male prospective cohort. J Natl Cancer Inst 1999;91(7):605-13.
8. Dietary antioxidants and risk of myocardial infarction in the elderly: the Rotterdam Study. Am J Clin Nutr 1999;69(2):261-6.