ข้อห้าม และข้อควรระวัง สำหรับบางโรค
สตรีตั้งครรภ์ | ไม่ควรรับประทานอาหารสุขภาพทุกชนิด ในทุกระยะเวลาของการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด เมื่อคลอดแล้วจึงสามารถจะแนะนำให้รับประทานอาหารสุขภาพได้ แต่ถ้าให้นมบุตรไม่ควรรับประทานสมุนไพร ในช่วงให้นมบุตร สามารถแนะนำ วิตามิน โปรตีน แคลเซียม น้ำผลไม้ น้ำมันปลา และขิง เป็นต้น |
ผู้ป่วยในโรงพยาบาล | ไม่ให้ทานอาหารสุขภาพทุกชนิด เพราะอาจจะรบกวนการทำงานของแพทย์ รบกวนยา หรือคนไข้อาจจะมีภาวะที่ตับ ไต ไม่แข็งแรง เป็นต้น |
เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี | ไม่ให้ทานอาหารสุขภาพทุกชนิด เพราะเมื่อไม่สบาย จะมีอันตรายสูง ต้องตรวจรักษาโดยแพทย์ นอกจากนี้ เด็กที่เล็กเกินไปอาจจะยังเคี้ยวหรือกลืนยาได้ไม่ดี ก็อาจจะติดคอ เป็นอันตราย |
นิ่วในไต | ระวังในการรับประทาน แคลเซียม เพราะในบางรายอาจเพิ่มการขับแคลเซียมในปัสสาวะ เกิดการตกตะกอนทำให้นิ่วโตเร็วขึ้นในผู้ที่เป็นนิ่วแล้ว ควรได้รับการตรวจแคลเซียมในปัสสาวะและควรปรึกษาแพทย์ก่อน |
นิ่วในถุงน้ำดี | ห้าม ขมิ้น อาร์ทิโชก และว่านชักมดลูก เพราะทั้งสามตัว เพิ่มการหลั่งน้ำดี อาจจะทำให้นิ่วโตขึ้นเร็ว แต่เมื่อได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีไปแล้ว สามารถรับประทานได้เหมือนคนปกติ |
โรคลมชัก โรคจิต โรคซึมเศร้า | ไม่ควรรับประทานอาหารสุขภาพทุกชนิด เว้นแต่จะปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจจะรบกวนระดับยารักษาโรค และอาจจะมีอันตรายได้
|
เบาหวาน | ห้ามลดน้ำหนักด้วยสูตรอาหารสุขภาพทั้งหมด และห้ามงดหรือลดปริมาณอาหารในบางมื้อ เว้นแต่จะปรึกษาแพทย์ที่รักษาเบาหวานก่อน เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปเสมอ จนเป็นอันตราย เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับยาลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานถ้าต้องการจะลดน้ำหนักจึงควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาในการปรับยาเบาหวาน และอยู่ในความดูแลของแพทย์เสมอ |
โรคหัวใจ อัมพาต เลือดข้น เลือดหนืด เส้นเลือดตีบ เส้นเลือดอุดตัน (ผู้ป่วยมักจะได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด) | ถ้าจะรับประทาน แปะก๊วย โสม กระเทียม น้ำมันปลา เห็ดหลินจือ ว่านชักมดลูก เจียวกู่หลาน น้ำมันพริมโรส โคเอนไซม์คิวเทน สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ขิง โกโก้ ชาเขียว อีจีซีจี น้ำมันมะกอก เรสเวอราทอล ไลโคพีน ขมิ้นชัน ถั่งเช่า ฟ้าทะลายโจร ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ในผู้ที่มีประวัติเส้นเลือดแตกในสมอง เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือผู้ที่เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย หรือรับประทานยาต้นการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด เพราะอาหารสุขภาพเหล่านี้มีผลต่อการแข็งตัวของเกล็ดเลือด อาจจะส่งเสริมยา ทำให้เลือดออกได้ง่าย หยุดได้ยาก |
โรคจีซิกพีดี (G6PD) | ห้าม มะรุม และถั่วปากอ้า เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะมีสีดำ และเป็นอันตรายต่อไตได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้ ปกติจะไม่อันตราย เว้นแต่ไปทานมะรุม ถั่วปากอ้า และยาที่ต้องห้าม ซึ่งมีหลายชนิด จึงต้องบอกแพทย์เวลาไม่สบายเสมอว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะได้ไม่สั่งยาที่ต้องห้าม |
โรคตับแข็ง และโรคตับทุกชนิด (ที่มีเอนไซม์ของการทำงานของตับสูง คือ ค่า SGOT SGPT มากกว่า 40 IU แสดงว่า ตับกำลังอักเสบ) | ห้ามสมุนไพร เช่น โสม เห็ดหลินจือ ใบบัวบก แปะก๊วย ฟ้าทะลายโจร กวาวเครือ ว่านชักมดลูก ทับทิมเม็ด มะรุม เจียวกู่หลาน รวมทั้งสารสกัดจากชาเขียว อีจีซีจี เพราะเป็นสมุนไพร อาจจะมีสารสำคัญที่มีความเป็นยาอยู่มาก อาจจะทำให้ตับต้องทำงานหนัก เว้นแต่สมุนไพรที่รับประทานได้สองชนิด คือ ถั่งเช่า และ อาร์ทิโชก เพราะจะช่วยรักษาตับอักเสบ แต่ควรปรึกษาแพทย์เป็นรายๆ ไป |
วัณโรค ที่กำลังได้รับยา มะเร็ง ที่กำลังได้รับเคมีบำบัด | ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาวัณโรค หรือกำลังได้รับการรักษามะเร็งด้วยยาคีโม หรือเคมีบำบัด หรือฉายแสง ควรงดการให้สมุนไพรทุกชนิด เพราะระยะที่กำลังได้รับการรักษาเหล่านี้ ตับจะทำงานหนัก จึงควรงดสมุนไพรไว้ก่อน ควรให้สมุนไพรต่อเมื่อหลังการให้คีโม หรือฉายแสง หรือหยุดให้ยาวัณโรคแล้ว 1-2 อาทิตย์ และถ้าจะมีการรักษาเช่นนี้อีก ก็ควรงดสมุนไพรในช่วงรักษานี้อีกเช่นกัน |
โรคไต | โรคไตระยะสุดท้าย หรือได้รับการล้างไตฟอกเลือด หรือมีอาการบวม ควรหลีกเลี่ยง ผลไม้ น้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ น้ำด่าง น้ำแมกนีเซียม หรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ เพราะอาจจะมีโพแทสเซียมสูงในเลือด และมีอันตรายได้ |
เนื้องอก ซีสต์ที่มดลูก รังไข่ เต้านม | ควรระวังหรือหลีกเลี่ยง การรับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจน เช่น ว่านชักมดลูก กวาวเครือขาว ตังกุย เพราะอาจจะส่งเสริมโรคให้มากขึ้นได้ ถ้าจะรับประทานให้ปรึกษาแพทย์ก่อน สำหรับถั่งเช่า ให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป |
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ | ห้ามสมุนไพรทั้งหมด เพราะอาจจะรบกวนยาที่ใช้รักษาภูมิต้านทาน และอาจจะมีผลเสียต่อโรค |